ประเพณีหลวงพระบาง บุญประเพณี 12 เดือน หมายถึง จารีตประเพณีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี ซึ่งบุญประเพณี 12 เดือนนี้ เป็นลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมประการหนึ่งของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่จะถูกแบ่งแยกโดยเหตุผลทางการเมือง การประกอบพิธีดังกล่าวนิยมทำกันในท้องถิ่นต่างๆ โดยทั่วไป แต่กิจกรรมบางอย่างในบางท้องถิ่น อาจเลิกปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับความนิยมและความเชื่อถือของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ สำหรับบุญประเพณีที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยม มีการถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ได้แก่ บุญพระเวส (เดือนมีนาคม) บุญสังขานต์ขึ้นหรือบุญปีใหม่(เดือนเมษายน) สรงน้ำพระ (เดือนเมษายน) บุญเข้าพรรษา (เดือนกรกฎาคม) บุญข้าวประดับดิน (เดือนสิงหาคม) บุญข้าวสาก (เดือนกันยายน) บุญออกพรรษา (เดือนตุลาคม) บุญไหลเรือไฟ (เดือนตุลาคม) และในเดือนพฤศจิกายน คือ งานบุญกฐินและบุญไหว้พระธาตุ (ทรงคุณ จันทจร, 2551, น.65-66)